ป.ป.ช.พิจิตรลุยตรวจโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียนเหตุวัตถุดิบขึ้นราคาหวั่นทุจริตซ้ำเติม เยาวชนคืออนาคตที่สำคัญของชาติ ป.ป.ช.พิจิตร ห่วงใยกลัวท้องไม่อิ่มจะไม่มีสมาธิเล่าเรียนออกสุ่มลุยตรวจโครงการอาหารกลางวันเหตุหวั่นวิตกราคาวัตถุดิบในการปรุงอาหารต่างทยอยขึ้นราคา แต่ถ้าหากว่าเจตนาสุจริตทำเพื่อเยาวชนก็มั่นใจว่าจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้หากไม่มีการคอรัปชั่นกินหัวคิวค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนงานนี้เน้นป้องปรามมากกว่าจับผิด
วันที่ 28 มิถุนายน 2565 นายอภิชาติ ปุณยธัญพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตร พร้อมด้วยคณะที่ประกอบด้วยผู้แทนคลังจังหวัดพิจิตร ,ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดพิจิตร , ผู้แทนนายอำเภอตะพานหิน , ผู้แทนเทศบาลตะพานหิน และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันลงพื้นที่ไปที่โรงเรียนเทศบาลตะพานหินวิทยาคาร ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองตะพานหิน อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร โดยมี นางสุพรรณ มีบัวทอง เป็น ผอ.สถานศึกษา โรงเรียนดังกล่าวนี้เป็นโรงเรียนระดับอนุบาล-ประถมศึกษา มีบุคลากร 37 คน มีนักเรียน 335 คน มีงบในการจัดทำอาหารกลางวันและนมโรงเรียนปีการศึกษาละ 7 แสนบาทเศษ
ดังนั้นวันนี้ ป.ป.ช.พิจิตร จึงได้เลือกลงพื้นที่สุ่มตรวจอาหารกลางวัน และอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนแห่งนี้เป็นสถานศึกษาที่เคยประสบปัญหาเรื่องโครงการอาหารกลางวันนักเรียนที่มีการจัดซื้อวัตถุดิบไม่ครบถ้วนโดยเมื่อในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการจ้างปรุงสำเร็จจึงต้องตรวจติดตามคุณภาพให้มีมาตรฐานและมีคุณภาพต่อนักเรียน โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการแนะนำเรื่องกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยสำนักงานคลังจังหวัดพิจิตรด้วย
จากการลงพื้นที่จริงวันนี้โรงเรียนเลี้ยงอาหารกลางวันเด็กเป็นข้าวสวย-แกงเขียวหวานไก่-ไก่ทอด-ผลไม้ส้มเขียวหวาน 1 ผล ในราคาจัดซื้อจัดจ้างหัวละ 21 บาท/คน/ปีการศึกษา ซึ่งพิจารณาดูแล้วก็สมราคา และที่สำคัญถ้าเด็กๆกินไม่อิ่มสามารถเติมอาหารเป็นรอบที่ 2-3 ได้ รวมถึงถ้ามีเด็กที่มีฐานะยากจนแล้วมีกับข้าวเหลือเพียงพอทางโรงเรียน โดยผู้ประกอบการก็จะนำข้าวและอาหารใส่ถุงให้เด็กๆนำไปฝากผู้ปกครองที่ส่วนใหญ่เป็นผู้พิการ-คนแก่-ครอบครัวที่ยากไร้ให้ได้กินเป็นอาหารเย็นอีกด้วย
นายอภิชาติ ปุณยธัญพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า จากสถานการณ์วัตถุดิบของสด-ของแห้ง-เครื่องปรุง-แก๊สหุงต้ม ทยอยขึ้นราคาจึงเกรงว่าผู้ประกอบการจะลดคุณภาพและปริมาณอาหาร ซึ่งทำเป็นสัญญาผูกพันว่าจ้างไว้ล่วงหน้าแล้ว การลงพื้นที่ก็เพื่อทำความเข้าใจว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามสัญญาจ้างอาจจะได้กำไรน้อยหน่อยแต่ก็อยากขอให้เห็นกับเยาวชนของชาติที่หวังฝากท้องอาหารมื้อกลางวันไว้ที่โรงเรียน รวมถึงกำชับผู้ว่าจ้าง คือ โรงเรียนก็ควรปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบและที่สำคัญไม่ควรให้มีเรื่องการคอรัปชั่นหรือการกินหัวคิวค่าอาหารกลางวันของเด็กๆ ถ้าทุกคนร่วมใจกันก็เชื่อมั่นว่าเราจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
สิทธิพจน์ พิจิตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น