นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ.เป็นประธานงานแถลงข่าวเผยแพร่ผลงานของคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ปี 2565 “มิติใหม่การบริหารจัดการผลไม้ ทุเรียนไทยส่งออกทะลุ 500,000 ตัน” พร้อมด้วยนายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมงานแถลงข่าว ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า แม้ว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19และสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ก็สามารถส่งออกทุเรียนผลสดไปจีนได้ถึง 550,848 ตัน ภายในเวลา 5 เดือน นับเป็นการทำลายสถิติการส่งออกเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (ข้อมูลวันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 24 มิถุนายน 2565)
เป็นผลมาจากการบริหารจัดการผลไม้ โดยคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ซึ่งมีดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ.เป็นประธานได้ขับเคลื่อนกลยุทธ์ใหม่ๆในการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ตามแนวทางพัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2565 - 2570 เป็นแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาผลไม้ไทยที่ครอบคลุมทั้ง Supply Chain และ Value Chain รวมถึงแผนระยะสั้น (ประจำฤดูกาล) โดยมีการบูรณาการกับคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ในการปรับสมดุลข้อมูลของอุปทาน (Demand) และอุปสงค์ (Supply) ผลไม้” นายอลงกรณ์ กล่าว
ด้านนายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะเลขานุการ Fruit Board ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จ โดยมีคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักในการกลั่นกรอง เชื่อมโยง บูรณาการ แผนงาน/โครงการ ในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลไม้ รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลไม้ตลอดฤดูกาลผลิต จากทุกหน่วยงานที่
เกี่ยวข้องภายในจังหวัด เพื่อจัดทำเป็นแผนบริหารจัดการผลไม้ (แผนแม่บท) ประจำปีของจังหวัดนั้น ๆ ตลอดจนบริหารจัดการ กำกับดูแลการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผน ซึ่งสอดคล้องตามแนวทางพัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2565 - 2570
“สำหรับแนวโน้มการเติบโตของปริมาณผลผลิตไม้ผลตั้งแต่ปี 2560 - ปัจจุบัน พบว่า มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของพื้นที่เก็บเกี่ยว และปริมาณผลผลิตของไม้ผลหลายชนิด เช่น ทุเรียน มีพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้นในรอบ 5 ปี ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2560 - 2565 เฉลี่ยร้อยละ 15 และปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 7 เนื่องจากประเทศไทยมีสายพันธุ์ทุเรียนที่ดี ตลอดจนมีการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรของเกษตรกรได้อย่างเหมาะสม ทำให้สามารถบริหารจัดการสวนทุเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพดี รสชาติเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกไม้ผลประมาณ 7.3 ล้านไร่ ผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย และลิ้นจี่ โดยในปี 2564 มีปริมาณผลผลิตของทั้ง 6 ชนิด รวมกัน 3,447,014 ตัน มีอัตราการเติบโต ร้อยละ 7.9 ปริมาณการส่งออกรวมกัน 2,007,348 ตัน คิดเป็นมูลค่า 168,544 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผลไม้เป็นสินค้าเกษตรที่มีความจำเพาะเจาะจง และมีความอ่อนไหวสูงมาก ให้ผลผลิตตามฤดูกาล และมักจะออกคราวละมาก ๆ (ออกกระจุกตัว) ในช่วงเวลาเดียวกัน มีอายุการเก็บรักษาสั้น ผลผลิตเน่าเสียง่าย เสี่ยงต่อภาวะราคาตกต่ำ ดังนั้นการบริหารจัดการผลไม้ของประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จ เกิดความยั่งยืนมีเสถียรภาพทางราคา จึงเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายมากด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขข้างต้น
ต้อม ศิลา/ข่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น