วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2566

สทนช. เตรียมพร้อมรับมือฝน ปี 66 พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน จ.พิจิตร ตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566

วันนี้ (17 ส.ค.66) นาย ชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่บึงสีไฟ จ.พิจิตร เพื่อติดตามการพัฒนาและเก็บกักน้ำ และติดตามการดำเนินงานตาม 12 มาตรการรับมือ ฤดูฝน ปี 2566 และ 3 มาตรการรับมือ ฤดูฝนปี 2566 เพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งบึงสีไฟเป็นแหล่งน้ำสำคัญในผังน้ำลุ่มน้ำน่าน เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ 1 ใน 8 ของพื้นที่ชุ่มน้ำภาคเหนือที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ต.ท่าหลวง ต.โรงช้าง ต.คลองคะเชนทร์ ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.พิจิตร มีพื้นที่ประมาณ 5,390 ไร่ และมีสภาพตื้นเขินบางส่วน โดยปัจจุบันมีการขับเคลื่อนการพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูบึงสีไฟ ให้เป็นพื้นที่ชะลอและรองรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝน ให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ ได้ในช่วงฤดูแล้ง พร้อมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติผ่านคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลอง ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศตั้งแต่ 1 ม.ค. 66 ถึงปัจจุบัน น้อย


กว่าค่าปกติร้อยละ 18 และในพื้นที่ภาคเหนือน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 27 สำหรับสถานการณ์น้ำ ณ ปัจจุบัน
ของ จ.พิจิตร มีแหล่งน้ำขนาดกลาง 1 แห่ง คือ บึงสีไฟ มีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่ 11.4 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น
ร้อยละ 90.19 ซึ่งมีปริมาณน้ำมากกว่า ปี 65 จำนวน 1.23 ล้าน ลบ.ม. จากการตรวจสอบไม่พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภค และพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร ทั้งนี้ รองเลขาธิการฯ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 และมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ 3 มาตรการอย่างเคร่งครัด และกำชับทุกหน่วยงานเตรียมแผนการรับมือ
จากสถานการณ์เอลนีโญเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้ทันกับสถานการณ์
รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่าจากการลงพื้นที่ บึงสีไฟสามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 12.64 ล้านลูกบาศก์เมตร และการบริหารจัดการน้ำของบึงสีไฟ เพื่อรักษาระบบนิเวศและบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ซึ่งมีแผนงานโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำบึงสีไฟเพื่อการเกษตรประมาณ 7,500 ไร่ ส่วนการปรับปรุงภูมิทัศน์บึงสีไฟให้สวยงามนั้น ดำเนินการโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตรและเทศบาลเมืองพิจิตร “พื้นที่ลุ่มน้ำน่านในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่น้ำท่วม อยู่ในรหัสโซนพื้นที่ทางน้ำหลาก และบางส่วนอยู่ในรหัสโซนพื้นที่น้ำนอง ซึ่ง สทนช. เสนอแนะให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร ป้องกันการพัฒนา ที่อาจก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำหรือกระแสน้ำ หรือกีดขวางการไหลของน้ำ เว้นแต่การใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่กำหนดไว้เป็นเขตชุมชน เขตอุตสาหกรรม และเขตพื้นที่ป้องกันน้ำท่วมตามผังเมืองรวม นอกจากนี้ ผังน้ำ ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยตัดสินใจในการสร้างที่อยู่อาศัย โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ไม่ให้อยู่ในพื้นที่น้ำหลากหรือ กีดขวางทางระบายน้ำรวมถึงควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในขอบเขตพื้นที่ตามระบบทางน้ำที่ได้กำหนดแนวเขตไว้ โดยผังน้ำจะกำหนดขอบเขตชัดเจนว่า บริเวณใดเป็นพื้นที่สงวนไว้ให้ทางน้ำโดยเฉพาะ ไม่มีสิ่งกีดขวางตั้งแต่ ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ขณะนี้การจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำน่าน ได้ดำเนินการปรับปรุงตามข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้วเสร็จ และจะนำไปรับฟังความคิดเห็นเป็นครั้งสุดท้ายต้นเดือนกันยายน 2566”


























 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น