วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2565

กอ.รมน.จังหวัดเชียงราย ร่วมการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรณีเกิดสถานการณ์แผ่นดินไหว ทดสอบแผนเผชิญเหตุ ระบบบัญชาการเหตุการณ์ ในภาวะฉุกเฉิน


กอ.รมน.จังหวัดเชียงราย ร่วมการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรณีเกิดสถานการณ์แผ่นดินไหว ทดสอบแผนเผชิญเหตุ ระบบบัญชาการเหตุการณ์ ในภาวะฉุกเฉิน

พันเอก บุญญฤทธิ์   เกษตรเวทิน รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเชียงราย (ฝ่ายทหาร) มอบหมายให้ พันเอก พักตร์พงษ์ เงสันเที๊ยะ หัวหน้ากลุ่มงานนโยบายแผนและการข่าว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเชียงราย ร่วมการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 (กรณีเกิดสถานการณ์แผ่นดินไหว) ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมี นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธาน พร้อมด้วย นายพินิจ แก้วจิตคงทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายครรชิต ชมภูแดง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรมการฝึกในครั้งนี้

การฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในกรณีเกิดสถานการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นการทดสอบแผนเผชิญเหตุภัยแผ่นดินไหว ระบบการจัดการในภาวะฉุกเฉิน ระบบบัญชาการเหตุการณ์ และการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานของหน่วยปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคประชาสังคม ตลอดจนเพื่อให้ทุกหน่วยงานรู้บทบาทหน้าที่ตามแผนเผชิญเหตุภัยแผ่นดินไหว และมาตรฐานการปฎิบัติงานรองรับภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดสถานการณ์แผ่นดินไหว (SOP) โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากหน่วยงานภายใต้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด หน่วยปฏิบัติภายใต้ศูนย์บัญชาการเหตุกรณ์อำเภอและศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ อ.แม่สาย อาสาสมัคร มูลนิธิองค์กรสาธารณกุศล และภาคประชาสังคม จำนวน 120 คน จาก 60 หน่วยงาน เข้าร่วม

ด้าน นายภาสกร บุญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ภัยจากแผ่นดินไหว เป็นภัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าหรือแจ้งเตือนได้ โดยในพื้นที่จังหวัดเชียงรายมีรอยเลื่อนมีพลังมากถึง 5 รอยเลื่อน ได้แก่ รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่อิง รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนพะเยา และรอยเลื่อนแม่ลาว ซึ่งสามารถปลดปล่อยพลังงานสร้างความเสียหายได้ตลอดเวลา ดังนั้น การฝึกการป้องกันฯ ครั้งนี้ได้มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมหน่วยงานภายใต้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สามารถปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉินร่วมกันได้อย่างเต็มขีดความสามารถตามภาระกิจหน้าที่ เป็นระบบและมีเอกภาพตามมาตรฐานสากล ซึ่งการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาระภัยในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากร ตลอดจนสร้างความเข้าใจในกรอบการปฎิบัติงานให้หน่วยงาน ทั้งหน่วยงานปฎิบัติการหลัก หน่วยงานสนับสนุน และหน่วยงานด้านอำนวยการ ให้สามารถบูรณาการปฏิบัติในภาวะฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ซ้ำซ้อน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยดังกล่าวอีกด้วย 





















ภาพข่าวศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพภาคที่ 3  (นกพิราบศูนย์ข่าว พิจิตร) รายงาน 0831671688


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น