ปลัดสุทธิพงษ์ ปลุกพลัง “นปส.จิตอาสา” เป็นผู้นำทำความดี ด้วย หัวใจ สร้างทีมจิตอาสาในทุกสำนักงาน ทุกตำบล/หมู่บ้าน เพื่อ Change for Good ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน
วันนี้ (7 ก.ค. 65) เวลา 08.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นวิทยากรโค้ชชิ่งสร้างพลัง “จิตอาสา” ให้กับผู้เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) รุ่นที่ 78 ผ่านระบบ Zoom Meeting ไปยังห้องประชุมเหลืองอินเดีย ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก โดยกล่าวว่า หัวใจที่สำคัญของการขับเคลื่อนงานจิตอาสา คือ ต้องสร้างทีม สร้างคนที่มีพลัง คนที่มีแรงปรารถนา (Passion) ที่อยากช่วยทำสิ่งที่ดีในลักษณะจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” โดยเริ่มจากในบ้าน ในสำนักงานของตนเอง และขยายวงกว้างไปสู่ชุมชน ซึ่งผู้เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูงทุกคนในฐานะ “ผู้นำ” ต้องสร้างพลังจิต พลังใจของตนเองให้เข้มแข็ง และใช้กระบวนการจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” สร้างสิ่งที่ดี Change for Good ให้กับชุมชน ให้กับสังคม ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น ฮึกเหิม ออกมาจากใจของเราเอง ไม่ใช่เป็นจิตอาสาเพียงเพราะได้สวมใส่ชุดเครื่องแบบจิตอาสา หรือทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ดังนั้น “การสร้างทีมจิตอาสา” จะเป็นการสร้างเกราะคุ้มครองว่า ถ้าพวกเราทุกคนเป็นผู้นำในการสร้างพลังจิตอาสาให้ออกมาจากใจของผู้ใต้บังคับบัญชา ของเพื่อนร่วมงาน รวมถึงของญาติพี่น้อง มิตรสหาย และพี่น้องประชาชน กล่าวคือ คนในสังคมไทยต้องไม่นิ่งดูดายที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และการช่วยเหลือนั้นไม่ใช่ช่วยเหลือตามหน้าที่อย่างเดียว เพราะถ้าทำแค่งานตามหน้าที่ (Routine Job) ดีที่สุดก็จะได้แค่เกรด C หรือเกรด B แต่หากเราทำให้งานจิตอาสาเป็น Extra Job คือ ไม่นิ่งดูดายที่จะทำแต่ความดีในทุกลมหายใจ จะส่งผลทำให้เราได้เกรด A หรือต่ำสุดคือ B+ เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากใจ จากแรงปรารถนา ไม่ใช่โดยตัวบทกฎหมายมาบังคับให้เราต้องทำ อันสอดคล้องกับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงขยายความคำว่า “จิตอาสา” ว่า “การทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ซึ่งเป็น keyword ที่สำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกันสร้างให้เกิดขึ้น ด้วยการพยายามคิดใคร่ครวญว่า การทำหน้าที่ของตนเองในชีวิตราชการ นอกจากหน้าที่ตามตัวบทกฎหมายแล้ว เรายังจะอุทิศตนให้เป็นประโยชน์กับคนอื่นกับส่วนรวมได้ ในลักษณะการทำความ ดี ด้วยหัวใจ ที่เกิดจากความ “อยากทำ” ซึ่งเมื่อทำแล้ว ก็จะมีแต่ความสุข อิ่มอกอิ่มใจ รู้สึกปลื้มปีติที่ได้เห็นคนอื่นพ้นทุกข์ ด้วยตัวเราและทีมงานจิตอาสาทุกคน
“การขับเคลื่อนงานจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” หลายหน่วยงานยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า เป็นเพียงหน่วยสนับสนุน หรือหน่วยเสริม ซึ่งสิ่งนี้ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า “ทุกคน ทุกหน่วยงาน เป็นทั้งหน่วยหลัก หน่วยเสริม และหน่วยสนับสนุนงานจิตอาสา กันแทบทั้งสิ้น” ซึ่งหมายความครอบคลุมรวมไปถึงทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกชุมชน เพราะจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วย หัวใจ” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ฝังอยู่ในจิตใจอันโอบอ้อมอารีเกื้อหนุนจุนเจือของบรรพบุรุษไทยมาแต่โบราณ ที่สะท้อนผ่านกิจกรรมในวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม เช่น การลงแขกเกี่ยวข้าว การช่วยกันพัฒนาถนนหนทาง การช่วยกันพัฒนาวัดวาอาราม หรือเวลามีเพื่อนในหมู่บ้านจะสร้างบ้านใหม่ก็จะเฮกันไปช่วยกันยกไม้ ยกเสาเอก มุงหลังคา หรือเวลาเกิดไฟไหม้บ้าน ไฟไหม้กุฏิ ไฟไหม้ศาลา ก็จะกุลีกุจอช่วยกันดับไฟ ช่วยกันยกถังน้ำ ตักน้ำ ถอดเสื้อ ถอดผ้าขาวม้า มาชุบน้ำดับไฟ หรือเวลาใครเดือดร้อนก็ช่วยกันหุงหาอาหารให้กิน ลูกหลานบ้านไหนไม่มีเงินเรียนหนังสือก็จะลงขันทอดผ้าป่าระดมทุนการศึกษา ซึ่งมันเป็นวิถีชีวิตที่ปู่ย่าตายายทำกันมาตลอด เพียงแต่ว่าด้วยกระแสพลวัตการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม ภายหลังจากการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำให้สังคมไทยมุ่งขับเคลื่อนในเรื่องความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เรื่อง GDP หรือตัวเงิน ส่งผลให้วัฒนธรรมเหล่านี้เจือจางมลายหายไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีแนวพระราชดำริในการย้ำเตือนพวกเราข้าราชการรวมถึงพสกนิกรชาวไทยของพระองค์ผ่านพระราชดำรัสที่ชัดเจนว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข “แก้ไขในสิ่งผิด” สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งคำว่า “แก้ไขในสิ่งผิด” คือ การแก้ไขทั้งที่ตัวเราและระบบของงานที่เราทำอยู่ รวมถึงสภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่ในสังคม นำสิ่งที่ดีที่บรรพบุรุษได้ทำไว้ให้เป็นตัวอย่างได้กลับมาเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืนอีกครั้ง ดังนั้น ทุกองค์กรไม่ใช่หน่วยเสริม แต่เป็น “หน่วยหลัก” ไม่ว่าองค์กรของรัฐหรือองค์กรตามธรรมชาติ กลุ่มในชุมชน ซึ่งการจะเป็นจิตอาสา เป็นกำลังหลักได้ ใจต้องอยากทำความดี เมื่ออยากทำความดีตลอดเวลา มันจะไม่รอให้คนอื่นสั่ง หรือรอคนอื่นทำแล้วไปร่วม เพราะจิตอาสาจะรู้สึกว่าไม่ทันใจ เพราะไม่ได้ทำทุกอย่างที่อยากทำ แต่ถ้าเรามองว่าเป็นหน้าที่ เดือนหนึ่งทำหนสองหนตามวงรอบที่กำหนดแล้วรายงาน ทำหน้าที่ให้จบไปตามวงรอบ คำว่า “จิตอาสา” ก็จะไม่ยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า การ “ทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ที่แฝงอยู่ในกระบวนการทำงานของพวกเราทุกคนในทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานบริการประชาชน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานหลักอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวกับทุกเรื่องในการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวม เช่น กรมที่ดิน ถ้าเอาเฉพาะงานในหน้าที่มาเป็นงานจิตอาสา เต็มที่ก็ให้ความรู้เรื่องของระเบียบกฎหมาย เรื่องการออกเอกสารสิทธิ หรือเรื่องการเดินสำรวจออกโฉนด มันก็เป็นงานในหน้าที่ที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่ถ้าคนในสำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินสาขา ร่วมพูดคุยจนเห็นพ้องต้องกันและจับไม้จับมือว่านิ้วแต่ละนิ้วซึ่งคือคนในสำนักงานทุกคนรวมเป็นกำปั้นเดียวในการเป็นจิตอาสา เราก็จะมี “ใจ” ที่ทำได้ตั้งแต่ที่บ้านของแต่ละคน ซึ่งบ้านแต่ละคนก็อยู่คนละหมู่บ้าน/ชุมชน ถ้ามีคนในสำนักงาน 10 คน เห็นพ้องต้องกันที่จะรณรงค์ให้บ้านเมืองสะอาด เช่น การคัดแยกขยะ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การเก็บขยะมูลฝอยตามถนนหนทาง รอบบ้าน ใต้ถุนบ้าน หรือบ้านของเพื่อนบ้าน ทั้ง 10 คนนี้ก็จะสร้างทีมของเพื่อนบ้าน สร้างทีมของสมาชิกในชุมชน ทำให้เกิดกระแสในการไปช่วยกันดูแลบ้านเรือน ดูแลชุมชน ดูแลสาธารณสมบัติของหมู่บ้าน และยังเป็นการขยายผลสร้างแรงบันดาลใจเป็นตัวอย่างให้กับเด็ก เยาวชน ลูกหลานในชุมชน ให้รู้จักเห็นคุณค่าของคำว่า “จิตอาสา” ที่มาจากใจ ไม่ใช่หน้าที่ เพราะทุกคนคือ “พระเอก” ที่ต่างมีจิตใจรุกรบเป็นจิตอาสาในทุกเรื่องของสังคม หรือแม้แต่ถ้าวัดของหมู่บ้านมีงานวัด เราก็ชักชวนทีมจิตอาสาไปเดินตรวจตรา อำนวยความสะดวก ความปลอดภัย อำนวยการจัดการขยะมูลฝอยในงานวัด มันก็จะกลายเป็นเรื่อง “ทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ที่เราสามารถเป็นหน่วยหลักได้ เพราะคำว่า หน่วยหลัก หน่วยเสริม มันอยู่ที่ “การนำ” แต่ “การทำ” คนที่เป็นหน่วยหลักก็ไปเป็นหน่วยเสริมของอีกหน่วยได้ เพราะอีกหน่วยเป็นคนคิดริเริ่ม ชวนให้เราไปทำ
“ทุกคนเป็นหน่วยหลักในการขับเคลื่อนงานจิตอาสาได้ และงานจิตอาสาไม่ยึดโยงเฉพาะงานที่อยู่บนโต๊ะหรือสำนักงาน มันเริ่มจากที่บ้าน ยาวเหยียดไปถึงทุกหนทุกแห่งที่เป็นพื้นที่สาธารณะ (Public Area) อันเป็นผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่ผลประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง งานจิตอาสาไม่ใช่งานใหญ่ ๆ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเก็บผักตบชวา เรื่องขุดลอกคูคลองอย่างเดียว แต่มันจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหมุดหมาย 17 ข้อของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ได้ เช่น คนที่อยู่ริมห้วย หนอง คลอง บึง ซึ่งพบเห็นผักตบชวาลอยมาผ่านหน้าบ้านใคร ก็สามารถเป็นจิตอาสาเก็บผักตบชวา หรือเมื่อเราขับรถผ่านพื้นที่ไหนแล้วเห็นขยะ ก็ไม่ต้องสนใจใคร ลงไปหยิบขยะ เก็บขยะ ทิ้งให้ลงถังขยะ เพราะเราไม่ได้อยากเห็นเพียงแค่คนจำนวนมากใส่ผ้าพันคอเหลือง ใส่หมวกฟ้าบ้าง ม่วงบ้าง แล้วถ่ายรูปรายงาน ไม่ได้อยากเห็นแค่นั้น แต่อยากเห็นทุกคนไม่นิ่งดูดายกับเรื่องที่ดี ที่ควรจะช่วยกันทำ เพราะ “การทำความดี” เป็นหัวเชื้อ เป็นต้นทางในการที่จะดึงดูดให้คนในสังคม ในชุมชน มีจิตใจที่จะทำความ ดี ด้วยหัวใจ ด้วยการไม่ละเลยที่จะรื้อฟื้นวัฒนธรรมที่ดีของคนไทยในสมัยปู่ย่าตายายกลับมา ด้วยการที่ผู้นำต้องสร้างทีมที่อยู่ในตำบล/หมู่บ้าน ในชุมชน ต้องช่วยกันสร้าง ช่วยกันทำให้เกิดขึ้น ด้วยการหมั่นลงไปเยี่ยมเยียน ไปพูดคุยกับผู้นำท้องที่ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน และพี่น้องประชาชน ในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ ไม่ต้องนัดหมายรวมคนมาจำนวนมาก เช่น โทรศัพท์ไปบอกว่าจะไป พอไปเยี่ยมก็ไปนั่งคุย แล้วให้ผู้ใหญ่บ้านพาเดินดูในพื้นที่ และเราก็แนะนำ พูดคุย ว่าพื้นที่สามารถพัฒนาได้อย่างไร เช่น ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ทำให้โมเลกุลของดินมีช่องว่างเพิ่มมากขึ้น ด้วยการใส่หิน พอให้น้ำ ได้สามารถซึมซับไปใต้ดิน หรือการช่วยกันคัดแยกขยะ รณรงค์ทำให้คนทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ซึ่งล้วนแล้วแต่จะต้องสร้างในเชิงคุณภาพให้เกิดขึ้น ด้วยพลังของคำว่า “จิตอาสา”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมในช่วงท้ายว่า การทำงานจิตอาสา นอกจาก “ใจ” ที่ถูกกระตุ้นปลุกเร้าให้คิดอยากทำแต่ความดีตลอดเวลาแล้ว “กลไกการสื่อสารกับสังคม” มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพราะพลังที่สำคัญของสังคม คือ การสร้างกระแสที่จะทำให้คนช่วยกันทำจิตอาสา ช่วยกันทำความดี ด้วยการ “ผู้นำต้องทำก่อน” ทำให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ทำมาจากใจ ด้วยหัวใจอย่างแท้จริง จึงขอให้ นปส.78 หรือ “นปส. จิตอาสารุ่น 1” ทุกคน ได้นำสิ่งเหล่านี้ไปเป็นแนวทางในการมุ่งขับเคลื่อนงานจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ด้วยภาวะผู้นำ ด้วย Passion ที่อยากทำความด้วยตัวเองโดยไม่ต้องให้ใครสั่งหรือรอวันสำคัญใด ๆ เพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีดีให้ประสบความสำเร็จในการทำความดีด้วยการปฏิบัติบูชา “เพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” ไปด้วยกัน
วันที่ 7 ก.ค. 2565
ต้อม สิงห์ 1
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น