วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2565

23 มิถุนายน 2561 ย้อนหลังภารกิจ ทหารกองทัพภาคที่ 3 นักประดาน้ำระดับโลก สานมือทุกภาคส่วน กับ เหตุการณ์ 13 ชีวิตทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง



เป็นวันครบรอบ 4 ปี เหตุเยาวชนจากทีมฟุตบอลหมูป่า อะคาเดมี 13 ชีวิต ซึ่งหลงเข้าไปติดอยู่ในถ้ำหลวง อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 23 มิถุนายน  2561 เป็นวันแรก

ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ถ้ำหลวง เมื่อวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน สำนักงานพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 ได้รับแจ้งว่า มีเด็กนักฟุตบอลและโค้ช 13 ชีวิต เดินทางเข้าไปเที่ยวในถ้ำ ก่อนจะหายตัวไปตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 23 มิถุนายน 2561 กลายเป็นปฏิบัติการตามหาที่กินเวลารวมทั้งสิ้น 221 ชั่วโมง 41 นาที หรือเท่ากับ 17 วันเต็ม และแลกมาด้วย 1 ชีวิตของอดีตหน่วยซีล

จากข่าวเด็กติดถ้ำธรรมดา กลายเป็นปฏิบัติการกู้ภัยที่ซับซ้อนและยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งในโลก เมื่อทีมกู้ภัยต้องทำงานแข่งกับเวลาท่ามกลางสภาพภายในถ้ำที่มีความซับซ้อน และกระแสน้ำที่มาพร้อมกับพายุฝนที่ทวีความยากของภารกิจครั้งนี้ขึ้นไปอีก จนต้องระดมนักดำน้ำที่เก่งที่สุดจากทั่วทุกมุมโลก คิดเป็น 1 ใน 4 ของนักดำน้ำทั้งหมด ร่วมกับ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือหน่วยซีล พร้อมทีมงานหมุนเวียนรวมกว่าหมื่นชีวิตที่พยายามต่อสู้กับระดับน้ำภายในถ้ำ และช่วยชีวิตสมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สายทั้ง 13 คนออกมาให้ได้

กองทัพภาคที่ 3 ได้จัดกำลังพลจากหน่วยทหารในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และหน่วยขึ้นตรงกองทัพภาคที่ 3 ชุดบรรเทาสาธารณภัย ทหารสื่อสาร ชุดปฎิบัติการลาดตระเวนระยะไกล เร่งระดมกำลังกันช่วยปฏิบัติการสนับสนุนภารกิจช่วยกันเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม และเร่งสูบน้ำออกจากถ้ำหลวง ลาดตระเวนค้นหาช่องทางในการเข้าไปภายในถ้ำ ตลอดจน ชุดแพทย์จากโรงพยาบาลทหารในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 ตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับการนำเด็กนักฟุตบอลและโค้ช 13 ชีวิต ออกจาถ้ำ 

นอกจานี้ จิตอาสาพระราชทาน ของหน่วยทหาร ส่วนราช หน่วย อาสาสมัครจาก องค์กร มูลนิธิ สมาคม  และภาคประชาชน ร่วมกันจัดตั้งจุดบริการอาหาร น้ำดื่ม ผ้าเย็น แม้กระทั่งประชาชนชาวอำเภอแม่สาย บริการซัก รีดผ้า ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ร่วมปฎิบัติภารกิจ ด้วย 

ตลอดภารกิจ 17 วัน แบ่งเป็นการค้นหาซึ่งต้องแข่งกับนาทีชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำ 10 วัน และการกู้ภัยซึ่งถูกบีบด้วยอากาศที่เบาบางข้างใน และกระแสน้ำที่มาพร้อมพายุฝนอีก 7 วัน ระหว่างนั้นเราได้สูญเสีย จ.อ. สมาน กุนัน หรือจ่าแซม (ยศปัจจุบัน น.ต. สมาน กุนัน ร.น.) เจ้าหน้าที่หน่วยซีลนอกราชการ ผู้อาสาช่วยเหลือในภารกิจที่ถ้ำหลวง ซึ่งทุกคนพร้อมใจยกย่องเขาเป็น ‘วีรบุรุษถ้ำหลวง’

ท้ายที่สุดเหตุการณ์ก็จบด้วยรอยยิ้ม เมื่อทีมกู้ภัยสามารถลำเลียงหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตออกมาได้สำเร็จ โดยใช้เวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 8-10 กรกฎาคม 2561  โดยสองชุดแรกออกมาครั้งละ 4 คน ส่วนชุดสุดท้ายออกมา 5 คน ปิดฉากภารกิจระดับโลก 17 วันที่คนทั้งโลกเอาใจช่วย โดยปัจจุบันถ้ำหลวงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของโลก

แต่ช่วงนี้ทางวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน   ยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปไว้อาลัย หรือชมสถานที่ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีโครงการปรับปรุงพื้นที่อุทยานฯ ทั้งปรับภูมิทัศน์บริเวณปากทางถ้ำหลวง อนุสาวรีย์นาวาตรี สมาน กุนัน หรือจ่าแซม ผู้เสียสละชีวิตในเหตุการณ์ช่วยเหลือทีมหมูป่าทั้ง 13 คน รวมทั้งมีการพัฒนาถนนเชื่อมจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน หรือสระน้ำมรกต ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางได้โดยสะดวกกว่าเดิม ฯลฯ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้เที่ยวเข้าชมถ้ำหลวงอีกครั้งในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 นี้เป็นต้นไป

สำหรับเหตุการณ์ช่วยเหลือ 13 หมูป่าดังกล่าว ปรากฏเป็นข่าวครั้งแรกเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 23 มิถุนายน  2561 เมื่อผู้ปกครองพบว่าเด็กๆ ทีมหมูป่าจำนวน 12 คน และนายเอกพล จันทะวงษ์ หรือโค้ชเอก ได้หายเข้าไปในถ้ำหลวง เพราะเห็นรถจักรยานและของใช้แต่ละคนที่ถูกทิ้งอยู่ตรงปากถ้ำ

เมื่อสอบถามบุคคลต่างๆ ก็ทราบว่าทั้งหมดได้เข้าไปในถ้ำหลวงเพื่อสำรวจและท่องเที่ยวตามปกติจริง แต่เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวฝนมาเร็วและตกมากกว่าทุกครั้ง ทำให้เกิดน้ำป่าทะลักเข้าท่วมปากทางเข้าออก รวมถึงภายในถ้ำจนทำให้ทั้ง 13 คน ต้องหนีตายเข้าไปอยู่ในโพรงถ้ำลึกท่ามกลางความมืด

หลังจากนั้นทางรัฐบาลและทุกหน่วยงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศต่างระดมสรรพกำลังเข้าช่วยเหลือ ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 17 วันจึงสามารถช่วยทั้งหมดออกมาได้อย่างปลอดภัย แต่ต้องสูญเสียนาวาตรี สมาน ที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติการช่วยเหลือ ท่ามกลางการเฝ้าจับตาของผู้คนทั่วโลก
















































































ภาพข่าว ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพภาคที่ 

นกพิราบ ศูนย์ข่าวพิจิตร รายงาน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น