วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2565


บุรีรัมย์ –ปราสาทปรางค์บุหีบ หรือศาสนสถานโบราณปรางค์บุหีบ บ้านกวางงอย ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์

แผ่นดินอีสานใต้เป็นส่วนหนึ่งของที่ราบสูงโคราช มีเทือกเขาพนมดงรักหรือเขาไม้คาน พาดผ่านเป็นแนวยาวจากดงพญาเย็นเขาใหญ่ผ่านเทือกเขาบรรทัด แดนลาว แนบชิดกับภูค่าวซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดพูในเขตจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เทือกเขาพนมดงรักเป็นกำแพงธรรมชาติที่กั้นระหว่างไทยและเขมร เป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำสายสำคัญ เช่น แม่น้ำมูล ทำให้เกิดลำน้ำสาขามากมาย เช่น ลำมาศ ลำจักราช ซึ่งไหลผ่านแหล่งอารยธรรมที่สำคัญในบริเวณนี้ มีภูเขาไฟที่ดับแล้วหลายลูกซึ่งคนโบราณได้ใช้ประโยชน์จากกายภาพของธรรมชาติผนวกกับความเชื่อทางศาสนาก่อสร้างสถาปัตยกรรมทางศาสนาสำคัญๆในบริเวณนี้ ความอุดมสมบูรณ์จากความคดเคี้ยวของแม่น้ำและลำน้ำสาขาก่อให้เกิดดินตะกอนเหมาะแก่การเพาะปลูก จึงทำให้คนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ลาว เขมร ส่วยหรือกูย จีน ฯลฯ  เข้ามาตั้งถิ่นฐาน เกิดการอพยพย้ายถิ่นตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน สายน้ำแห่งอารยธรรม ลุ่มน้ำมาศ กำเนิดเทือกเขาใหญ่ เทือกเขาสันกำแพง อ.เสิงสาง นครราชสีมา ไหลผ่านมาอำเภอปะคำ นางรอง หนองกี่ หนองหงส์ ชำนิ ละหานทราย โนนดินแดง โนนสุวรรณ ประโคนชัย และลำปลายมาศ ไหลเข้าสู่เขตนครราชสีมา ซึ่งปรากฏหลักฐานโบราณคดีมากมายมาจนถึงปัจจุบัน จะพาไปชมศาสนสถานโบราณ ปรางค์บุหีบ หรือปราสาทหรือปรางค์บุหีบ บ้านกวางงอย ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านที่คู่กับวิถีความเชื่อมาอย่างยาวนานในทุกๆปีชาวบ้านจะพากันประกอบพิธีเลี้ยงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษาคุ้มภัย ให้ลูกหลานรวมถึงชาวบ้าน ให้อยู่ดีมีสุขเพื่อตอบแทนบุญคุณ กตัญญูกตเวที ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด คงคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนให้ลูกหลานตลอดไป

ปรางค์บุหีบเป็นศาสนสถาน ตั้งอยู่ที่บ้านกวางงอย ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บรีรัมย์ ตั้งอยู่บนเนินในป่าละเมาะตอนเหนือของหนองหีบ มีระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร และมีหนองปุ๊กอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ห่างออกไปเป็นระยะทางประมาณ 500 เมตร แต่เดิมเป็นโคกเนินใหญ่ มีแท่งฐานตั้งอยู่กลางเนิน ชาวบ้านเรียกว่าโคกหีบหรือบุหีบจากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2530 พบว่าโคกเนินดังกล่าวเดิมเป็นฐานปรางค์ซึ่งเป็นศิลาแลงก่ออิฐ มีเสากรอบประตูเป็นหินทรายและแท่นฐาน ที่เหลือแต่เดิมที่ฐานมีอักขระจารึกอยู่มีลายประดับกรอบหน้าบันเหลืออยู่ ชาวบ้านเล่ากันว่าผู้สร้าง คือ “ท้าวปาจิต-นางอรพิม” เป็นนิทานเรื่องเล่าแบบมุขปาฐะซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายในท้องถิ่นอีสาน นำมาจากชาดกนอกนิบาตเรื่อง “ปาจิตตกุมารชาดก” ใน “ปัญญาสชาดก” เนื้อเรื่องแบ่งเป็นการเล่าแบบสอนศาสนาและเล่าเป็นแบบนิทานชาวบ้านผนวกการอธิบายชื่อบ้านนามเมือง “ปาจิต-อรพิม” จึงมีความสำคัญต่อการศึกษาความเป็นมาของคนในท้องถิ่นบริเวณอีสานใต้ ซึ่งใช้อธิบายที่มาของชื่อบ้านนามเมืองแถบปราสาทหินพิมายและสถานที่ในท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน เส้นทางตามนิทานประจำถิ่นปาจิตอรพิมนี้ผู้เขียนได้ข้อมูลการค้นคว้าจากเอกสารดังนี้ เอกสาร “ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน” ฉบับตัวเขียนในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ. 2316, ฉบับหลวงบำรุงสุวรรณในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสำนวนแต่งคล้ายคลึงกับในสมัยกรุงธนบุรี, “ปาจิตต-อรพินท์” ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2476 โดยหลวงระงับประจันตคาม และนิทานธรรมเรื่องนางอรพิน ฉบับจารึกใบลาน วัดบ้านยาง อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม และการเล่าเรื่องของประชาชนในเขตจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ รวมทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดบ้านยางในจังหวัดมหาสารคามและวัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 

เส้นทางการเดินทางของท้าวปาจิต-นางอรพิม ที่เล่าต่อกันมาและเนื้อเรื่องที่ถูกบันทึกนั้น เป็นการเดินด้วยเท้าเป็นส่วนใหญ่ ในบางครั้งใช้พาหนะเป็นสัตว์เลี้ยงเช่น ควาย ตอนที่นายพรานฆ่าท้าวปาจิตและพานางอรพิมขี่ควายไปด้วยกัน จากนั้นนางอรพิมจึงหยิบมีดที่นายพรานเหน็บที่บั้นเอวสังหารนายพรานเสีย ส่วนเกวียนนั้นเป็นการเดินทางในขบวนขันหมากของท้าวปาจิต นอกจากทางบกแล้วยังมีการเดินทางด้วยทางน้ำ เช่น ในฉากที่สามเณรออกอุบายพาท้าวปาจิตและนางอรพิมข้ามน้ำ การเล่าเรื่องชื่อเมืองเชื่อมต่อกันไปตามเมืองที่ใกล้ๆกันชื่อหมู่บ้านที่มีเพียงแต่คนในท้องถิ่นเท่านั้นที่คุ้นเคย ได้ถูกบันทึกไว้อย่างน้อยสองร้อยกว่าปีตามหลักฐานทางเอกสารและน่าจะมีอายุนานกว่านั้นมาก่อนแล้ว การรื้อฟื้นชื่อเมืองเสมือนเป็นการรื้อฟื้นความทรงจำให้กับคนในท้องถิ่น และเป็นการแนะนำบ้านเมืองที่มีความสำคัญแต่อดีตให้กับคนนอกท้องถิ่นได้รู้จักเมืองที่ถูกซ่อนและถูกละเลย เป็นการมองเมืองที่ผ่านสายตาด้วยการไปเยือนสร้างความหมายได้อย่างดียิ่งดังตัวอย่างการบรรยายเมืองพลับพลาและกงรถ ดังนี้ (ขอบพระคุณเนื้อความจาก เรื่องย่อ : เส้นทางปาจิต-อรพิม ที่ปรากฏในเขตอีสานใต้ บันทึกจากท้องถิ่น : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์  ฉ.101 (ม.ค.- มี.ค.2557 และ นายรังสิมา  กุลพัฒน์ ศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาการจัดการมรดกทางสถาปัตยกรรม กับการท่องเที่ยว  มหาวิทยาลัยศิลปากร)

ความเป็นมา (ภูมิหลัง/ความเชื่อ) ประเพณีการเลี้ยงบุหีบของบ้านกวางงอย เป็นศาสนสถาน ตั้งอยู่ที่บ้านกวางงอย ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ตั้งอยู่บนเนินในป่าละเมาะตอนเหนือของหนองหีบ ประมาณ 1 กิโลเมตร และมีหนองปุกอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ห่างออกไปเป็นระยะทางประมาณ 500 เมตร แต่เดิมเป็นโคกเนินใหญ่ มีแท่งฐานตั้งอยู่กลางเนิน ชาวบ้านเรียกว่าโคกหีบหรือบุหีบจากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2530 พบว่าโคกเนินดังกล่าวเดิมเป็นฐานปรางค์ซึ่งเป็นศิลาแลงก่ออิฐ มีเสากรอบประตูเป็นหินทราย และแท่นฐานที่เหลือแต่เดิมที่ฐานมีอักขระจารึกอยู่มีลายประดับกรอบหน้าบันเหลืออยู่ ตั้งอยู่ในเขตที่สาธารณะประโยชน์ของหมู่บ้านนั้น สถานที่ร่มรื่นเต็มไปด้วยต้นไม้ เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติและเป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมา ตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน สมัยก่อน – ปัจจุบันชาวบ้านจะทำการเลี้ยงบุหีบ โดยการนำพระสงฆ์ทำบุญตักบาตรของชาวบ้าน ต่างพากันร่วมถวายอาหารเพล นำพวงมาลัย ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวปลาอาหารเครื่องคาวพาหวาน (พาหวานคือพลูหมาก,ยาสูบของหวานต่างๆ ข้าวสุก และการห่อข้าวต้มมัด ถวายพระสงฆ์ จากนั้นชาวบ้านนำน้ำมนต์จากการประกอบพิธีมาพรมศาสนสถานเพื่อเป็นสิริมงคลต่อไป ในการประกอบพิธีการเลี้ยงบุหีบ จะดำเนินการหลังการเลี้ยงปู่ตาประจำบ้าน หรือห้วงก่อนการลงมือทำนาในปีฤดูการทำนา จะทำพร้อมกับการเลี้ยงปู่ตาเป็นประจำทุกปี จะทำให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นในชุมชนเพราะว่าปู่ตาประจำบ้านและศาสนสถานบุหีบของบ้านกวางงอย จะปกป้องรักษาดูแลหากจะมีเหตุการณ์ที่ไม่ดีปู่ตาก็จะช่วยปกป้อง การประกอบพิธีนั้นชาวบ้านผู้ทรงคุณวุฒิด้านปราช์ญชาวบ้านที่ชาวบ้านให้ความนับถือ เป็นผู้ประกอบพิธี ประเพณีการเลี้ยงบุหีบ ตามความเชื่อของชาวบ้านกวางงอย ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ เป็นประเพณีสำคัญที่จำเป็นที่ขาดไม่ได้ ตั้งแต่ในสมัยเก่าจนถึงปัจจุบัน ถ้าปีใดไม่ได้เลี้ยง หากเกิดเหตุเภทภัยขึ้นแก่ชาวบ้านมักเชื่อว่าเป็นเพราะไม่ได้เลี้ยงบุหีบ จึงได้พากันจัดประเพณีสืบทอดกันมาตราบจนถึงทุกวันนี้






















ภาพ/ข่าว : พรพิพัฒน์ เพ็ชรสังหาร ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อินไท  NEWS และน.ส.พ.ทันใจนิวส์)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น