วันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

กรมทางหลวง สัมมนาสรุปผลปรับปรุงถนน จ.พิจิตร ช่วง อ.บางมูลนาก – บ.โพทะเล รองรับการเดินทางคมนาคมขนส่งในอนาคต


วันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 09.00 น. ณ หอประชุมเทพหงษ์ทอง วิทยาลัยชุมชนพิจิตร จังหวัดพิจิตร กรมทางหลวงได้จัดการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (การสัมมนา ครั้งที่ 3) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 1067 ช่วงอำเภอบางมูลนาก - บ้านโพทะเล เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาด้านวิศวกรรม มาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ การดำเนินการมี ส่วนร่วมของประชาชน พร้อมทั้งเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประกอบการปรับปรุงรายละเอียดถนนโครงการ และกำหนดมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการให้มีประสิทธิภาพต่อไป โดยได้รับเกียรติจาก ว่าที่ร้อยตรีขรรค์ไชย ทันธิมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เป็นประธานเปิดการประชุม โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม  เนื่องจากภายหลังการศึกษาและลงพื้นที่สำรวจรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ผ่านมาของโครงการ ทำให้ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ศึกษาของโครงการเป็นจุดเริ่มต้นบนทางหลวงหมายเลข 1067 ประมาณ กม.0+900 และมีจุดสิ้นสุดโครงการ ประมาณ กม.14+933 รวมระยะทางประมาณ 14.033 กิโลเมตร โดยบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ มีการปรับปรุงบริเวณจุดตัด ทางแยก กม.0+900 ซึ่งอยู่ในโค้งราบเพื่อให้การออกแบบเป็นไปตามหลักด้านวิศวกรรมและความปลอดภัย จึงจำเป็นต้องปรับปรุงโค้งราบและทางแยกดังกล่าว จึงส่งผลให้ต้องปรับตำแหน่งจุดเริ่มต้นโครงการไปยัง กม.0+900 เพื่อให้ครอบคลุมบริเวณทางแยกโดยอยู่ในพื้นที่อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ จึงขอนำเสนอสรุปผลการศึกษาโครงการ โดยมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้


1. รูปแบบทางหลวงโครงการ ได้ออกแบบให้สอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพของภูมิประเทศตามแนวเส้นทางโครงการ แบ่งเป็น 2 พื้นที่ ได้แก่ 1.ในเขตชุมชนทั่วไป 2.นอกเขตชุมชน และสามารถกำหนดรูปแบบในการพัฒนาโครงการ ดังนี้  ในเขตชุมชนทั่วไป ออกแบบเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร และบางช่วงออกแบบเป็นถนนขนาด 6 ช่องจราจร  (ไป-กลับ) แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลางแบบดินถม (Raised Median) ส่วนในแหล่งชุมชน ออกแบบเป็นถนนขนาด 


8 ช่องจราจร (ไป-กลับ) และมีเกาะกลางแบบดินถม (Raised Median) 

นอกเขตชุมชน ออกแบบเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร และบางช่วงออกแบบเป็นถนนขนาด 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ)  แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลางแบบกำแพง (Barrier Median) 

2. รูปแบบจุดตัดทางแยก โดยจากการศึกษาพื้นที่โครงการ พบว่า ถนนโครงการมีทางแยกกับถนนโครงข่ายอื่น จำนวน 5 ตำแหน่ง แบ่งเป็นลักษณะสามแยก 3 ตำแหน่ง และสี่แยก 2 ตำแหน่ง เพื่อให้การเชื่อมต่อถนนสอดคล้องกับ การขยายทางหลวง 4 ช่องจราจร จึงมีการปรับปรุงตามจุดต่างๆ ดังนี้

จุดที่ 1 บริเวณสี่แยกบางมูลนาก กม.0+900 ปรับปรุงผิวจราจรบริเวณสี่แยกและปรับปรุงรูปแบบช่องจราจรใหม่ให้สอดคล้องกับรูปแบบของโครงการ 

จุดที่ 2 และจุดที่ 3 บริเวณสามแยก กม.7+500 ทางหลวงชนบทหมายเลข พจ.4059 และพจ.4058 ออกแบบเป็นลักษณะทางเชื่อม 

จุดที่ 4 บริเวณแยกท่าบัว กม.7+860 ทางหลวงหมายเลข 1067 ตัดทางหลวงชนบทหมายเลข พจ.4048 ออกแบบเป็นสี่แยกสัญญาณไฟจราจร 

จุดที่ 5 บริเวณสามแยก กม.12+240 ทางหลวงชนบทหมายเลข พจ.4088 ออกแบบเป็นลักษณะทางเชื่อม

3. รูปแบบจุดกลับรถ ได้ออกแบบจุดกลับรถไว้ 2 ประเภท คือ จุดกลับรถระดับพื้นและจุดกลับรถใต้สะพาน 

ซึ่งเกาะกลางที่ใช้ในการออกแบบจุดกลับรถ ได้แก่ เกาะกลางแบบดินถม (Raised Median) เป็นรูปแบบที่เหมาะสมต่อการกลับรถ มีช่องรอเลี้ยวที่สะดวกปลอดภัย อีกทั้งเกาะกลางไม่สูงต่อการบดบังสายตาและมีพื้นที่เพียงพอในการติดตั้งป้ายจราจร โดย จุดกลับรถระดับพื้น มีรายละเอียดดังนี้ 

1. แบบนอกเขตชุมชน (มีไหล่ทางสำหรับรองรับรถเลี้ยว) : เกาะกลางแบบดินถม (Raised Median) ทิศทางตรงจำนวน 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง มีไหล่ทางด้านซ้ายสำหรับรองรับรถบรรทุกขณะกลับรถ 6.7 เมตร สามารถรองรับรถบรรทุกขณะกลับรถได้ บริเวณที่ออกแบบ ได้แก่ บริเวณ กม.5+600 , กม.11+100 และ กม.13+100 

2. แบบในเขตชุมชน (ขยายเต็มเขตทาง) : เกาะกลางแบบดินถม (Raised Median) ทิศทางตรงจำนวน 

4 ช่องจราจรต่อทิศทาง สามารถรองรับรถบรรทุกขณะกลับรถได้ บริเวณที่ออกแบบ ได้แก่ กม.2+900 กม.6+740 กม.7+869 กม.9+730 และ กม.14+188 

3. จุดกลับรถ 1 ทิศทาง : ชนิดเกาะกลางแบบดินถม (Raised Median) ช่องรอเลี้ยวกว้าง 3 เมตร อยู่บนทางหลวงหมายเลข 1067 กม.1+200 

4. จุดกลับรถบริเวณทางเข้า รพ.บางมูลนาก โดยมีทิศทางจากสี่แยกบางมูลนากมุ่งหน้าอำเภอโพทะเล โดยจะเปิดไว้เฉพาะรถที่เลี้ยวขวาเข้า รพ.บางมูลนากเท่านั้น บริเวณ กม.3+200 

ส่วนจุดกลับรถใต้สะพาน : จุดกลับรถใต้สะพานมีขนาด 1 ช่องจราจร ให้เฉพาะรถที่ความสูงไม่เกิน 2.7 – 3 เมตร บริเวณที่ออกแบบ ได้แก่ กม.2+292.191 – 2+368.703 และ กม.8+356.612 – 8+381.612 


ทั้งนี้ จากการสำรวจสะพานเดิมตลอดแนวทางเส้นโครงการ พบว่า มีจำนวนสะพานตลอดแนวเส้นทางโครงการ จำนวน 14 สะพาน จึงกำหนดโครงสร้างสะพาน เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.สะพานขนาดใหญ่ เป็นสะพานที่มีความยาว ตั้งแต่ 20 เมตรขึ้นไป มีจำนวน 1 แห่ง 2.สะพานขนาดเล็ก เป็นสะพานช่วงสั้น ความยาวไม่เกิน 15 เมตร มีจำนวน 13 แห่ง ส่วนงานระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ได้พิจารณาระบบไฟฟ้าแสงสว่างของถนน ให้สอดคล้องตามลักษณะทางกายภาพของงานทาง โดยในพื้นที่ทางแยกและจุดเชื่อมต่อที่มีความกว้างของพื้นที่หรือถนน สามารถติดตั้งเสาไฟฟ้าแสงสว่างได้ทั้งแบบ เสาไฟกิ่งคู่และกิ่งเดี่ยว เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ทาง หรือในกรณีสะพานข้ามลำน้ำเป็นสะพานแยกจะติดตั้งเสาไฟตรงกลางแบบกิ่งเดี่ยว ส่วนงานระบบระบายน้ำ โครงการมีการปรับปรุงระบบระบายน้ำ ประกอบด้วย ท่อลอดกลม จำนวน 7 แห่ง ท่อลอดเหลี่ยม จำนวน 2 แห่ง และปรับปรุง/ก่อสร้างสะพานข้ามลำน้ำ จำนวน 14 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ได้ดำเนินการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ ครอบคลุมทุกกิจกรรมการก่อสร้าง พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรอบโครงการให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ภายหลังการประชุมในครั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ จะดำเนินการรวบรวมข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจาก ทุกภาคส่วน นำมาพิจารณาประกอบการจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาโครงการให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป ซึ่งกรมทางหลวงมีแผนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างประมาณปี 2570 และคาดว่าสามารถเปิดใช้บริการได้ประมาณปี 2573 โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.เว็บไซต์ www.ทล1067-บางมูลนาก-โพทะเล.com  2.แฟนเพจเฟซบุ๊ก : ทล1067-บางมูลนาก-โพทะเล และ 3.Line Official : บางมูลมาก-โพทะเล








































ภาพข่าว ธีรพงศ์ นาคแนม (นกพิราบศูนย์ข่าว จังหวัดพิจิตร)  ศูนย์ประสานงานข่าว โทร 0831671688 รายงาน** คนรู้จักพัก ทว่าไม่รู้จักพอ ** จิตอาสาพัฒนา เราทำความดีด้วยหัวใจ....ร่วมใจกันพัฒนา